การควบคุมการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงในงานให้บริการทางเพศ

การลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บในสถานที่ทำงานที่พบได้บ่อย แนวทางปฏิบัตินี้อาจช่วยนายจ้างในธุรกิจงานให้บริการทางเพศในการควบคุมความเสี่ยงของการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกในที่ทำงานได้ แนวทางปฏิบัตินี้อาจช่วยผู้อื่นที่มีความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยและอนามัยได้เช่นกัน

Shape

ความรับผิดชอบของคุณด้านอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานให้บริการทางเพศ

พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) เป็นกฎหมายที่ช่วยรักษาความปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นที่รู้จักในชื่อพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) ได้วางความรับผิดชอบไว้ที่บุคคลต่าง ๆ รวมถึงนายจ้าง บุคคลผู้บริหารจัดการหรือควบคุมสถานที่ทำงาน ผู้ที่เป็นนายจ้างตัวเองและลูกจ้าง คุณมีความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบทบาทของคุณ ค้นหาเกี่ยวกับบทบาทของคุณและความรับผิดชอบในสถานที่ทำงาน

การบาดเจ็บจากการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูง

การลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกสามารถทำให้ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง ลูกค้าและผู้อื่นในสถานที่ทำงานให้บริการทางเพศเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้ การบาดเจ็บจากการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ มีรูปแบบมากมายในการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อและโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึง

  • การบาดเจ็บของเอ็น ข้อต่อและการขัดยอกของกล้ามเนื้อ
  • การบาดเจ็บที่หลัง
  • การบาดเจ็บของกระดูกและข้อ
  • การบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน
  • ไส้เลื่อน
  • การเจ็บปวดเรื้อรัง

หน้าที่ในการควบคุมการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูง

พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) วางรูปแบบหน้าที่ของนายจ้างและบุคคลต่าง ๆ ในด้านความปลอดภัยและอนามัย นายจ้างมีหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) ในการจัดหาและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับลูกจ้าง ในฐานะนายจ้าง คุณต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จมากที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามสมควร ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย(OHS) ลูกจ้างของคุณรวมถึงผู้รับจ้างอิสระที่คุณว่าจ้างและลูกจ้างของผู้รับจ้างอิสระ

วิธีควบคุมความเสี่ยงต่อการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูง

ภัยอันตรายคือสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดอันตราย ความเสี่ยงคือโอกาสของภัยอันตรายที่ทำให้เกิดอันตราย อันตรายรวมถึงการบาดเจ็บ ความเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) ทำให้คุณในฐานะนายจ้างมีความรับผิดชอบในการกำจัดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและอนามัย คุณต้องทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้อย่างสมเหตุสมผล

วิธีที่ดีที่สุดเพื่อควบคุมความเสี่ยงต่อการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูง คือกำจัดภัยอันตรายที่อาจทำให้เกิดอันตรายดังกล่าว ซึ่งทำได้ดีที่สุด ณ ขั้นตอนการออกแบบสถานที่ทำงาน หากคุณไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงได้ คุณต้องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามสมควร แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณระบุภัยอันตราย และควบคุมความเสี่ยงในการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงในสถานที่ทำงานของคุณได้

ปรึกษากับลูกจ้าง

การปรึกษาหารือกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสามารถส่งผลให้สถานที่ทำงานมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยง

การปรึกษาหารือรวมถึง

  • การแบ่งปันข้อมูล
  • การให้โอกาสอย่างมีเหตุผลต่อลูกจ้างในการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา
  • การคำนึงถึงความคิดเห็นของลูกจ้าง

นายจ้างมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) ที่จะปรึกษาหารือ คุณต้องปรึกษาหารือกับ

  • ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ตามรายการในพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS)
  • ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
  • ผู้รับจ้างอิสระและลูกจ้างของผู้รับจ้างอิสระ
  • ตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย หรือที่เรียกว่า HSR
  • ผู้จัดหาการจ้างแรงงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่จ้างแรงงาน

การปรึกษาหารือกับตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR) สามารถทำได้โดยมีลูกจ้างหรือไม่มีลูกจ้างเกี่ยวข้องโดยตรง หากสามารถปฏิบัติได้อย่างสมเหตุสมผล คุณต้องให้ข้อมูลกับตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR) ก่อนที่จะให้กับลูกจ้าง คุณต้องให้ข้อมูลกับตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR)ในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะให้กับลูกจ้าง

เหตุการณ์ที่คุณต้องปรึกษาหารือกับลูกจ้าง ผู้รับจ้างอิสระ และตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR) ใด ๆ รวมถึงเมื่อ

  • ระบุภัยอันตราย
  • ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยอันตรายเหล่านั้น
  • ตัดสินใจในวิธีการควบคุมความเสี่ยง
  • ตัดสินใจเกี่ยวกับความเพียงพอของสิ่งอำนวยความสะดวก
  • นำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยและอนามัยของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน สิ่งของที่ใช้หรือข้อปฏิบัติในการทำงาน

คุณควรปรึกษาหารือเมื่อทบทวนหรือแก้ไขมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมในแนวทางปฏิบัติของ WorkSafe ในการปรึกษาหารือ

https://www.worksafe.vic.gov.au/consultation-safety-basics

การใช้ระบบในการควบคุมความเสี่ยง

OHS เป็นตัวย่อของคำว่าอาชีวอนามัย (Occupational health) และความปลอดภัย (Safety) ระบบการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นระบบที่ช่วยสถานที่ทำงานให้พัฒนาผลลัพธ์ด้านอนามัยและความปลอดภัย ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นที่รู้จักในคำว่า OHSMS

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHSMS) ในการระบุภัยอันตรายและการควบคุมความเสี่ยง

  • มีกระบวนการและขั้นตอนพร้อมในการระบุภัยอันตราย การประเมินความเสี่ยงและการเพิ่มมาตรการควบคุมความเสี่ยง ให้ดำเนินการต่อไปนี้ในการปรึกษาหารือกับลูกจ้างและตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR)
  • เฝ้าระวัง ทบทวน และแก้ไขการควบคุมความเสี่ยงเมื่อจำเป็น ทำสิ่งนี้อีกครั้งในการปรึกษาหารือกับลูกจ้างและตัวแทนด้านความปลอดภัยและอนามัย (HSR)
  • จัดให้มีกระบวนการในการรายงานภัยอันตรายและอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจในการระบุและการควบคุมความเสี่ยงได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • กำหนดและบันทึกการตรวจสอบอย่างละเอียดและการซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ รวมทุกพื้นที่ในสถานที่ทำงานและอุปกรณ์ทุกอย่าง การตรวจสอบอย่างละเอียดอาจรวมบริเวณเช่น การเดินตรวจทั้งหมด การตรวจตามรายการที่กำหนด การสำรวจ การทบทวนรายงานอุบัติเหตุ และการพูดคุยกับลูกจ้าง
  • เก็บบันทึกข้อมูล คำสั่ง การอบรม และการควบคุมดูแลที่ให้กับลูกจ้าง กำหนดเวลาตามปกติที่จะปรึกษาและทบทวนข้อมูลและข้อกำหนดการฝึกอบรมกับลูกจ้าง

ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอนามัย (OHSMS) สามารถที่จะช่วย

  • สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยกว่าได้
  • ลดการบาดเจ็บและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ
  • ทำให้โอกาสทางธุรกิจดียิ่งขึ้น
  • ให้วิธีในการพิสูจน์ผลการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS
  • แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของคุณปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
  • ปรับปรุงชื่อเสียงของธุรกิจ

การใช้ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอนามัย (OHSMS) อาจช่วยให้คุณควบคุมความเสี่ยงในการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงได้

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OHSMS ที่เว็บไซต์ WorkSafe

https://www.worksafe.vic.gov.au/occupational-health-and-safety-management-systems

การตรวจสอบสถานที่ทำงานอย่างละเอียด

การตรวจสอบสถานที่ทำงานอย่างละเอียดเป็นประจำสามารถช่วยระบุภัยอันตรายและควบคุมความเสี่ยงได้ เมื่อทำการตรวจสอบสถานที่ทำงานอย่างละเอียด ให้ใส่ใจอย่างใกล้ชิดต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึง

  • พื้น บันได และแสงสว่าง
  • การดูแลความสะอาด รวมถึงความสะอาดทั่วไป และวิธีทำความสะอาด
  • ความแตกต่างหลากหลายในเงื่อนไขต่างๆ ตามเวลาของวัน และปี เช่น ฝนตกหรือวันที่เมฆปกคลุม หรือความแตกต่างระหว่างกลางคืนและกลางวัน
  • เสื้อผ้าและรองเท้าที่ลูกจ้างสวมใส่

การควบคุมการลื่น

ภัยอันตรายในการลื่นที่พบโดยทั่วไป

เมื่อมีการตรวจสอบสถานที่ทำงานอย่างละเอียด อันตรายจากการลื่นที่จะต้องมองหารวมถึง

  • ผิวพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นผิวที่ลื่นเมื่อเปียก การใช้ตาข่ายปูพื้นหรือขั้นบันได
  • น้ำฝนหรือโคลนใกล้ประตู
  • พื้นเปียก เช่น รอบ ๆ ฝักบัว สปา และสระน้ำ และจากการทำความสะอาดระหว่างชั่วโมงการทำงาน
  • สิ่งที่หกลงบนพื้น เช่น สบู่ ของเหลวหล่อลื่น น้ำมันสำหรับนวด และของเหลวอื่นในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและห้องอาบน้ำของพนักงาน รวมถึงบริเวณบริการลูกค้า
  • การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันบนพื้นผิว เช่น จากบริเวณที่เคยปูพรมมาเป็นพื้นไม้ขัด พลาสติก หรือพื้นกระเบื้อง
  • บริเวณบริการที่ลื่นหรือเปียก เช่น พื้นผิวที่ได้รับผลกระทบจากความชื้น หรือมีการใช้เครื่องพ่นหมอก หรือหิมะ และฟองสบู่ที่สามารถมีสิ่งตกค้างได้
  • สิ่งที่เกิดบนพื้นผิว เช่น มอส หรือราในห้องน้ำ
  • เครื่องรองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมรองเท้าส้นสูงบนบันได พื้นผิวที่ลื่น

การควบคุมมาตรการเพื่อป้องกันการลื่น

มาตรการควบคุมต่อไปนี้อาจช่วยควบคุมความเสี่ยงในการลื่นในสถานที่ทำงาน

  • การติดตั้งพื้นผิวพื้นที่ลดความเสี่ยงในการลื่นจากของเหลว น้ำมันหล่อลื่น หรือฝุ่น
  • ทำความสะอาดสบู่ ของเหลวหล่อลื่น น้ำมันสำหรับนวด และของเหลวอื่น ๆ ที่หกลงบนพื้นทันที
  • ทำความสะอาดพื้นเป็นประจำนอกเวลาทำงาน
  • ใช้ผลิตภัณฑ์กันลื่นบนขั้นบันได ทางลาด และทางเดินอื่น ๆ หรือพื้นผิวสำหรับทำงาน
  • ติดตั้งราวจับบนทางขึ้น บันได และทางลาดต่าง ๆ
  • วางแผ่นรองกันลื่นตรงทางเข้าออก
  • ตรวจและซ่อมแซมการรั่วไหล หากไม่สามารถซ่อมบริเวณที่รั่วไหลได้ทันที ให้จำกัดการเข้าถึงบริเวณนั้นและตั้งป้ายเตือนไว้จนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อย
  • ทำความสะอาดและดูแลรักษาสภาพพื้นและพื้นผิวภายนอกเป็นประจำ
  • ติดตั้งรางระบายน้ำอย่างเหมาะสม ทำให้มั่นใจว่า มีการตรวจรางระบายน้ำเป็นประจำและทำสะอาดไม่ให้อุดตันเมื่อจำเป็น
  • เลือกพื้นผิวของพื้นที่มั่นใจว่า จะไม่ลื่นจากพื้นหนึ่งไปอีกพื้นหนึ่ง
  • จัดการดูแลพื้นผิวเพื่อไม่ให้ลื่น
  • จัดการดูแลพื้นผิวที่ขึ้นราหรือมีตะไคร่น้ำจับ และควบคุมความชื้นของพื้นผิวและความชื้นในอากาศเพื่อป้องกันการเติบโตขึ้นมาใหม่ของสิ่งเหล่านี้
  • ดูแลพื้นผิวภายนอกให้ปราศจากใบไม้ โคลน หญ้าที่ตัดทิ้งไว้ กระดาษ หรือกรวดหิน กำจัดตะไคร่น้ำ รา หรือเมือก และจัดการดูแลพื้นผิวเพื่อป้องกันการเติบโตขึ้นมาใหม่ของสิ่งเหล่านี้
  • ต้องทำให้แน่ใจว่า ลูกจ้างสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับงาน สนับสนุนลูกจ้างให้ถอดรองเท้าส้นสูงเมื่อขึ้นลงบันไดหรือบนพื้นผิวที่ลื่น
  • ต้องทำให้แน่ใจว่า ระดับความลาดชัดของทางลาดไม่เกินตามที่มาตรฐานออสเตรเลียแนะนำ

การควบคุมการสะดุดล้ม

ภัยอันตรายที่จะทำให้เกิดการสะดุดล้มทั่วไป

เมื่อตรวจสอบสถานที่ทำงาน ภัยอันตรายที่จะทำให้เกิดการสะดุดล้มที่ต้องมองหารวมถึง

  • พื้นที่ชำรุดเสียหายหรือบำรุงรักษาไม่ดี รวมถึงกระเบื้องแตกและที่ปูพื้นที่สึกหรอ
  • พื้นผิวที่ลื่นหรือไม่สม่ำเสมอ
  • บริเวณที่มีสบู่ ของเหลวหล่อลื่น น้ำมันสำหรับนวด และของเหลวอื่น ๆ หก
  • พื้นหรือระดับพื้นที่ทำเครื่องหมายไม่ดีหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด
  • การเข้าถึงถนน ทางเดินเท้าและขอบสวนที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี
  • การปูพื้นที่ไม่แน่นหรือไม่สม่ำเสมอ
  • อุปกรณ์หรือสิ่งของที่เก็บตามทางเดินต่าง ๆ
  • สายไฟจากคอมพิวเตอร์ แสงสว่าง และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่น
  • ขั้นบันไดและบันได รวมทั้งความสูงที่ยกขึ้นที่แตกต่างไป หรือความลึกของขั้นบันได
  • แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตรงขั้นบันไดและตัวบันได
  • ไม่มีราวจับที่ขั้นบันไดและตัวบันได

มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม

มาตรการควบคุมต่อไปนี้อาจช่วยควบคุมความเสี่ยงต่อการสะดุดล้มในสถานที่ทำงานได้

  • การทบทวนและบำรุงรักษาพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอหรือชำรุดเสียหายอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำความสะอาดสบู่ ของเหลวหล่อลื่น น้ำมันสำหรับนวด และของเหลวอื่น ๆ ที่หกลงบนพื้นทันที
  • การทบทวนและบำรุงรักษาบริเวณที่ต้องเข้าถึงภายนอก รวมทั้งบริเวณทางเท้าและขอบสวนอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดให้มีบริเวณเฉพาะสำหรับเก็บสิ่งของเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รถเข็น และอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • จัดให้มีชั้นวางของไว้อย่างเพียงพอ
  • อย่าวางสิ่งของกีดขวางทางเดิน
  • ต้องมั่นใจว่า ทางเดินหรือทางผ่านปราศจากสิ่งของวางเกะกะตลอดเวลา
  • จัดให้มีล็อกเกอร์หรือตู้เก็บของใช้ส่วนตัว
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า มีขั้นตอนการทำความสะอาดที่เหมาะสม
  • ใช้พรมเช็ดเท้าที่ไม่ลื่น
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า มีการติดตั้งพรมเช็ดเท้าที่ไม่ลื่นที่มั่นคงหรือใหญ่พอที่จะอยู่กับที่
  • ติดตั้งที่เสียบปลั๊กไฟมากเพียงพอและวางสายไฟและเคเบิ้ลไปตามกำแพงหรือภายในผนังกั้น
  • ทาผิวเคลือบกันลื่นบนขั้นบันไดและบันไดที่ลื่นหรือลาดชัน
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า บันไดที่ลาดชันเป็นทางที่เข้าถึงสำรองเท่านั้น ต้องทำให้มั่นใจว่า บันไดมีราวจับที่มั่นคงทั้งสองข้าง
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า ขั้นบันไดและบันไดมีพื้นที่วางเท้าที่เพียงพอ และมีขนาดและแผ่นกระดานที่ตั้งขึ้นของบันไดสม่ำเสมอกัน ต้องทำให้มั่นใจว่า จมูกหรือขอบของขั้นบันไดหรือบันไดมีขอบเขตที่เหมาะสม
  • จัดให้มีราวจับบนขั้นบันไดและบันได
  • หากขั้นบันไดและบันไดมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ให้เพิ่มแสงสว่าง เน้นจมูกบันได
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า พื้นหัวบันไดกว้างเพียงพอที่จะเปิดประตูออกได้อย่างเต็มที่โดยที่จะไม่ชนกับใคร
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า ลูกจ้างไม่ถือของขึ้นบันได หากเป็นไปไม่ได้ ต้องทำให้มั่นใจว่าของนั้นเล็กและเบาพอที่จะใช้มือเดียวถือแนบไปด้านข้างของลำตัว
  • ต้องทำให้แน่ใจว่า ลูกจ้างสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับงาน สนับสนุนลูกจ้างให้ถอดรองเท้าส้นสูงเมื่อขึ้นลงบันไดหรือบนพื้นผิวที่ลื่น
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า มีการทำเครื่องหมายช่องทาง ทางผ่าน และทางออกฉุกเฉินไว้อย่างเหมาะสม
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า มีที่ว่างเหนือศีรษะตลอดความยาวของช่องทางและทางเดิน
  • ตรวจสอบรายละเอียด ซ่อมแซม และบำรุงรักษาตะแกรงหรือฝาปิด
  • ต้องทำให้มั่นใจว่า ตะแกรงหรือฝาปิดไม่ได้ทำให้ลูกจ้างเปลี่ยนรูปแบบการเดินไปเป็นการเหยียบลงไปบนมัน

การควบคุมการพลัดตกจากที่ต่ำกว่า 2 เมตร

นายจ้างมีหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) เมื่อมีความเสี่ยงในการตกจากที่สูงเกิน 2 เมตร ดูแนวทางปฏิบัติของ WorkSafe - แนวทางในการป้องกันการพลัดตก

https://www.worksafe.vic.gov.au/resources/guide-falls-prevention

อย่างไรก็ตาม การพลัดตกจากที่ต่ำกว่า 2 เมตรก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สาหัสหรือแม้แต่เสียชีวิตได้ การปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัตความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS) นายจ้างต้องควบคุมความเสี่ยงจากการตกดังกล่าว

แนวทางปฏิบัติต่อไปนี้อาจช่วยให้นายจ้างควบคุมความเสี่ยงจากการพลัดตกจากที่ต่ำกว่า 2 เมตรได้

ภัยอันตรายจากการพลัดตกทั่วไป

เมื่อตรวจสอบรายละเอียดสถานที่ทำงาน ภัยอันตรายจากการพลัดตกที่ต้องมองหารวมถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • การใช้สิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นแท่นเหยียบ เช่น การใช้เก้าอี้และลังไม้คว่ำเป็นแท่นเหยียบ
  • เก้าอี้หรือที่นั่งที่ชำรุด
  • เก้าอี้ที่มีล้อเลื่อนมาตรฐานบนพื้นกระเบื้องยาง
  • สถานการณ์ที่จำเป็นต้องกระโดดหรือก้าวลงสู่ระดับที่ต่ำกว่า
  • บันไดพาดหรือขั้นบันไดที่ไม่มั่นคงหรือไม่เหมาะสม
  • เวทีที่ไม่มีขอบที่ทำเครื่องหมายอย่างชัดเจนหรือไม่มีราวกั้นที่ปลอดภัย
  • การสวมรองเท้าส้นสูงขณะที่ให้บริการบนโซฟา เตียง หรือเก้าอี้
  • สายระโยงจากสุ่มกระโปรง ผ้าไหม หรืออุปกรณ์ที่ลอยอยู่บนอากาศอย่างอื่น

มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการพลัดตก

มาตรการการควบคุมต่อไปนี้อาจช่วยควบคุมความเสี่ยงต่อการพลัดตกในที่ทำงานได้

  • ตรวจเช็กเก้าอี้อย่างสม่ำเสมอ เอาเก้าอี้ที่ชำรุดออกหรือซ่อมแซมและนำของใหม่มาใช้แทน
  • ใช้เก้าอี้ที่มีล้อเลื่อนมาตรฐานเฉพาะบนพื้นผิวที่ปูพรม ล้อเลื่อนมาตรฐานจะเคลื่อนไหวง่ายมากบนพรมน้ำมันและพื้นผิวที่คล้ายคลึงกัน และสามารถเลื่อนไหลจากตัวขณะที่นั่งลงได้ สำหรับพรมน้ำมันและผิวพื้นที่คล้ายกัน ให้ใช้เก้าอี้ที่มีล้อเล็ก ๆ ติดปลายขา
  • ต้องมั่นใจว่าบันไดพาดและลูกบันไดแข็งแรงและปลอดภัยเมื่อใช้
  • ต้องมั่นใจว่าบันไดพาดหรือลูกบันไดได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ต้องมั่นใจว่าขาบันไดพาดและลูกบันไดไม่ลื่นและอยู่ในสภาพที่ดี
  • ต้องมั่นใจว่าพนักงานลูกจ้างใช้บันไดพาดอย่างถูกต้อง ให้ข้อมูล คำสั่ง การฝึกอบรมและการควบคุมดูแลที่จำเป็นสำหรับลูกจ้างเพื่อการทำงานที่ปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • แสดงให้เห็นขอบของเวทีอย่างชัดเจนและจัดหาราวกั้นเพื่อความปลอดภัย
  • เมื่อเป็นไปได้ ทำให้มั่นใจว่าพนักงานลูกจ้างหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงขณะทำงานอยู่บนโซฟา เตียง หรือเก้าอี้
  • ทำให้มั่นใจในการติดตั้งและใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต

การช่วยเหลือผู้ที่พลัดตกจากที่สูง

คนมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเมื่อใช้มือช่วยเหลือผู้ที่ได้พลัดตกจากที่สูง WorkSafe มีแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยควบคุมความเสี่ยงเมื่อกำลังช่วยคนหลังจากที่ได้พลัดตกจากที่สูง

https://www.worksafe.vic.gov.au/resources/assisting-people-who-have-fallen-health-and-safety-solution

สภาพแวดล้อมสามารถเพิ่มความเสี่ยงได้

พิจารณาว่าสภาพแวดล้อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่น สะดุดล้ม หรือการพลัดตกหรือไม่ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึง

  • ความร้อนและความเย็น
  • ลมและฝน
  • ความชื้นในอากาศ
  • ผิวพื้นที่ลื่นและไม่เสมอกัน
  • สิ่งกีดขวาง
  • แสงสว่างที่ไม่ดี
  • การสั่นสะเทือน

ภัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมทั่วไป

ภัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมทั่วไปในสถานที่ทำงานรวมถึง

  • บริเวณทำงานและทางเดินที่ติดไฟไม่สว่าง
  • การเปลี่ยนแปลงระดับแสงสว่างระหว่างบริเวณอย่างกะทันหัน
  • แสงสว่างที่ส่องตรงมากเกินไป
  • การทำงานในที่อับชื้น ร้อน หรือเย็น

มาตรการควบคุม

มาตรการควบคุมต่อไปนี้อาจช่วยควบคุมความเสี่ยงในการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงได้

  • ใช้ระดับแสงสว่างที่เหมาะสม
  • จัดให้มีแสงสว่างในระดับที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่
  • จัดให้มีแสงส่องตรงเพื่อไม่ให้เกิดเงาบนขั้นบันได บันได หรือผิวพื้นอื่น ๆ สำหรับการเดิน
  • ทำให้มั่นใจว่า ผู้คนไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมหรือผลการทำงาน ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีลูกจ้างที่เจ็บป่วยที่จะมีอาการทรุดลงเมื่ออากาศร้อนและชื้น เพื่อลดความเสี่ยง คุณควรจัดอุปกรณ์ที่ลดความร้อนและความชื้นในอากาศให้ คุณควรแน่ใจว่า มีเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมก่อนและระหว่างกะทำงานของลูกจ้าง

รายการตรวจสอบสำหรับนายจ้าง

WorkSafe มีรายการตรวจสอบที่ช่วยควบคุมความเสี่ยงต่อการสะดุดล้ม การลื่นและการพลัดตกจากที่สูง พิมพ์รายการนี้ออกมา กรอก และเก็บสำเนาการตรวจสอบนี้ไว้เป็นหลักฐานของคุณ ผู้ตรวจสอบของ WorkSafe อาจขอดูเอกสารนี้เมื่อทำการตรวจสถานที่ทำงาน

https://www.worksafe.vic.gov.au/resources/preventing-slips-trips-and-falls-under-2-metres-pdf-version

ข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลื่น การสะดุดล้ม และการพลัดตกจากที่สูงได้ที่เว็บไซต์ของ WorkSafe

https://www.worksafe.vic.gov.au/slips-trips-and-falls

https://www.worksafe.vic.gov.au/fall-prevention

บริการให้คำปรึกษาของ WorkSafe (WorkSafe Advisory Service)

บริการให้คำปรึกษาของ WorkSafe (WorkSafe Advisory Service) เปิดระหว่าง 7:30 น. ถึง 18:30 น. ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หากคุณต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม คุณสามารถติดต่อ WorkSafe โดยการใช้บริการล่ามและแปล (TIS National) หรือบริการต่อสายแห่งชาติ (National Relay Service) ได้

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง